Human Development for Excellence Ep31
เข็นครกขึ้นภูเขา
หลายคนคงเคยได้ยินและคุ้นเคยกับสุภาษิต “เข็นครกขึ้นภูเขา” ซึ่งหมายถึง การทำงานที่ยากลำบาก เกินความสามารถของตนและมักนำมาใช้เปรียบเทียบในหลายแง่มุม โดยหนึ่งในนั้นคือแง่มุมของการบริหารคนที่บางคนสอนยากเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขาที่พอปล่อยมือ ครกก็กลิ้งตกลงมา แต่ถ้าไม่ปล่อยมือ ภาระก็จะตกอยู่กับผู้เข็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เบนจามิน แฟลงคลิน กล่าวไว้อย่างคมคายว่า “บอกฉัน ฉันจะลืมสอนฉัน ฉันจะจำ แต่ถ้าให้ฉันทำ ฉันจะเรียนรู้” เป็นประโยคที่ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของการสร้างคนในแต่ละขั้น และทำให้ผู้เขียนได้ระลึกถึง KUSA Model ที่ได้ใช้ในช่วงที่ทำงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดย KUSA อธิบายได้ดังนี้
Knowledge ความรู้
Understanding ความเข้าใจ
Skill ทักษะ
Attitude ทัศนคติ
เวลาที่เราพัฒนาคนก็จะต้องอบรมให้ความรู้ และเมื่อรู้แล้วต้องมีความเข้าใจในความรู้นั้น ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการอ่านหรือการเรียนในห้องเรียน เป็นต้น พอรู้และเข้าใจก็ต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะผ่านการฝึกงานจริงจนมีความเชี่ยวชาญ ในขั้นสุดท้าย
ต้องมีทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงานโดยที่ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องเฝ้าติดตามตลอดเวลา
หากทำได้เช่นนี้ผู้บริหารทั้งหลายก็เอาเวลาเข็นครกขึ้นภูเขาไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้อีกมากมาย
หมายเหตุ เนื้อหา”เข็นครกขึ้นภูเขา” ได้รับแรงบันดาลใจจากการบรรยายของ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คนที่ 24 ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ในพิธีเปิดหลักสูตรสุนทรียศาสตร์และศิลป์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2566 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
#สร้างคนสู่ความเป็นเลิศ โดย สุริยพงศ์ ทับทิมแท้