Human Development for Excellence Ep8
ESG กับค่าแรงขั้นต่ำ
กระแสการบริหารจัดการองค์กรในปัจจุบันมักมีการพูดถึงการบริหารด้วยความสอดคล้องกับ ESG ที่ประกอบด้วย Environment เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Social รับผิดชอบต่อสังคม และ Governance ใช้หลักธรรมาภิบาล โดยในปัจจุบันบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีการทำ ESG Report เพื่อแสดงต่อสาธารณะ และในทางอ้อมก็เป็นการบอกว่าบริษัทนี้น่าคบหาหรือน่าทำธุรกิจด้วยหรือไม่ เป็นการทำให้ทุกบริษัทต้องแข่งขันกันสร้างมาตรฐานในการทำ ESG อย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการการแรงงานของรัฐสภา โดยมีนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นประธาน ได้มีการกล่าวเรื่องสมมติฐานในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ว่า “ต้องเพียงพอกับการดำรงชีวิตของคนสามคนที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูก” กล่าวคือ ถ้าพ่อเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวต้องสามารถเลี้ยงดูคนอีกสองคนได้ ซึ่งเราคงสามารถกล่าวโดยสังเขปได้ว่าในชีวิตประจำวันของเราก็ต้องครอบคลุมปัจจัยสี่ คือ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ที่เราก็คงใช้สามัญสำนึกในฐานะเพื่อนมนุษย์ว่าที่ทำงานของเรา ควรกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่าไรจึงจะสามารถทำให้คนของเราดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่อิงประกาศภาครัฐ
ผูัเขียนอยากแนะนำให้ผู้บริหารได้ทบทวนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม ไม่ใช่เฉพาะในองค์กรของตนเองเท่านั้นแต่รวมไปถึงคู่ค้าคู่ธุรกิจที่เราทำธุรกิจด้วยว่ามีการจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะสิ่งนี้จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่จะยืนยันว่าองค์กรนั้นบริหารจัดการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็คงจะเป็นแค่องค์กร ESG บนกระดาษเท่านั้น
#สร้างคนสู่ความเป็นเลิศ โดย สุริยพงศ์ ทับทิมแท้