Kannavee Suebsang
"มนุษยธรรมนำการเมือง" กับ สส.นล "กัณวีร์ สืบแสง"
สส. หนึ่งเดียวของพรรคเป็นธรรม
Exclusive Talk EP. นี้ ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ "คุณนล" นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กับนิยามของคำว่า "มนุษยธรรมนำการเมือง" พร้อมพูดคุยถึงแนวคิดการทำงานและใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance
แนะนำตัว
ผม “กัณวีร์ สืบแสง” เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรมครับ
ย้อนอดีตชีวิตวัยเรียน
ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ สมัยประถมเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ช่วงมัธยมเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรีผมสำเร็จการศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ และมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยออริกอนครับ
ประสบการณ์การทำงาน สู่การเป็นนักการเมือง
แรกเริ่มผมทำงานที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ทำงานเกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคง รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับชายแดนทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ดูแลงานด้านการเตรียมความพร้อม ความมั่นคงชายแดน ความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น ผู้หนีภัยการสู้รบ หรือผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย - เมียนมา อยู่ในค่ายทั้งหมด 9 แห่ง
ต่อมาสมัครงานที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เริ่มปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสำนักงานภาคสนามครับ ผมดูแลค่ายผู้อพยพ 2 ค่ายที่บ้านใหม่ในสอยกับบ้านแม่สุรินทร์ ทำอยู่ประมาณ 2 ปี ก็ย้ายมาทำที่สำนักงานใหญ่ของ UNHCR ทำเกี่ยวกับการเจรจา การประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆ การกำกับดูแลผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศว่าเราจะให้ความคุ้มครองกับพวกเขาได้อย่างไร ผมทำงานที่นี่ประมาณ 4 ปี ก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งในเวทีระหว่างประเทศ คือ ประเทศซูดานใต้ 3 ปีครึ่ง แล้วก็ย้ายเมืองไปเรื่อยๆ เข้าไปอยู่ในบริเวณภาคสนามทั้งในภาวะปกติและภาวะสงคราม ดูแลผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอย่างเรื่องเอกสาร หลักฐานต่างๆ อาหาร ยารักษาโรค แล้วทำให้ผู้คนเหล่านั้นกลับไปอยู่ในพื้นที่ของตนเองได้ เราพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนครับ
นอกจากนี้ ยังมีการทำงานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 ด้วย รวมถึงการผสมผสานกลมกลืนในพื้นที่ที่พวกเขามาลี้ภัย และเรื่องการย้ายกลับประเทศกำเนิดด้วยความสมัครใจ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดแต่ก็ยากที่สุด
จากซูดานใต้ผมก็ย้ายไปซูดานเหนือ 2 ปีครึ่ง ไปอยู่มา 3 รัฐ คือ รัฐภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง ดูแลทั้งผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ดูแลประชาชนที่จะเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิ มีไปประเทศชาด และประเทศยูกันดาด้วย หลังจากนั้นก็มาประจำอยู่ที่บังกลาเทศ ดูแลเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยเข้ามาจากประเทศเมียนมา ประมาณ 700,000 คน แล้วมาประจำที่ประเทศพม่า ช่วงปี ค.ศ. 2019 สถานการณ์ตอนนั้นปกติครับ เราสามารถนำพาพวกเขากลับประเทศมาตุภูมิได้ กระทั่ง ค.ศ. 2021 เกิดรัฐประหารในประเทศพม่า ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทยไม่สามารถเดินทางกลับได้ ผมก็มาทำงานเกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผมกำกับดูแลโซนที่ติดกับประเทศไทย ซึ่งมีผู้พลัดถิ่น 300,000 กว่าคน เราพยายามที่จะให้ความคุ้มครองทั้งหมด
จากนั้นผมย้ายมาทำงานที่ในประเทศไทย ก่อตั้งมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ทำงานหลักๆ คือ การสร้างสันติภาพ การทำเรื่องมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ในตอนนั้นผมคิดว่าทำงานมูลนิธิอย่างเดียวเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวไม่เพียงพอ ต้องมีอำนาจฝ่ายบริหารด้วยถึงจะผลักดันให้สำเร็จได้ จึงตัดสินใจมาสมัครเป็นนักการเมือง จนมีโอกาสได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร งานหลักๆ ผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ชนเผ่าพื้นเมือง สมรสเท่าเทียม สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การแสดงบทบาทการเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีโลก รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยครับ
ทำไมสนใจเรื่องนี้
สนใจเรื่องนี้ตอนเรียนปริญญาโทครับ สมัยนั้นมีอาจารย์จากชนเผ่าพื้นเมืองสอนเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิต่างๆ ก็เลยทำให้มีความสนใจและเริ่มเรียนเจาะลึกเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมโดยตรง ผมได้พบเจอกับผู้ลี้ภัยเมียนมาแล้วไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เราได้มาเป็นเพื่อนกัน พอได้คุยก็ได้ทราบเรื่องราว เลยมาทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวผู้ลี้ภัย เขาจะสู้อย่างไร? จะรักษาวัฒนธรรมของพวกเขาไว้อย่างไร? ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมสนใจครับ
“นายหัวนล” กระแสดังในโซเชียล
ผมคิดว่าเกิดจากความชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์ครับ การจัดตั้งรัฐบาลในช่วงนั้นการเปลี่ยนขั้วสลับขั้วเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผมมีจุดยืนชัดเจน ผมยึดมั่นว่าการทำงานการเมืองต้องเป็นการทำงานอย่างตรงไปตรงมา เราต้องไม่บิดเบือนตัวเราเอง ตั้งแต่วันแรก ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้พี่น้องประชาชนเริ่มเห็นความหวัง เริ่มเชื่อในศรัทธาที่ผมมีต่อการเมืองไทย "นายหัวนล" ก็จึงถูกพูดถึงในช่วงหาเสียงนะครับ
ใช้ชีวิตให้ Work Life Balance
พอเป็นนักการเมืองแล้วการมีเวลาว่างเป็นเรื่องที่ยาก เป็นสส.คนเดียวของพรรค ความคาดหวังของประชาชนก็ย่อมสูง ตอนเช้าๆ ถ้ามีเวลาก็จะออกมาวิ่งวันละ 1 ชั่วโมงครับ ถ้าเดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัดก็จะไม่มีเวลาออกกำลังกาย ตอนนี้ที่บ้านมีน้องแมวด้วย เมื่อเครียดจากงานกลับบ้านมาก็ยังมีน้องๆ มาเล่นด้วย อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เริ่มทำก็คือการปั่นจักรยานครับ “ปั่นเพื่อสันติภาพ” ด้วยการชวนพี่น้องประชาชนมาปั่น เริ่มจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแนวทางว่าปั่นแล้วจะไปหาสันติภาพได้อย่างไร ฟังดูแล้วอาจจะดูน่าเบื่อ แต่ผมว่าสนุกนะครับ ได้เจอผู้คน ได้ไปชิมเมนูอร่อยๆ ไปชมธรรมชาติสวยๆ ในพื้นที่ แล้วที่แพลนว่าปั่นที่ชายแดนใต้นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด อยากให้ทุกคนปรับเปลี่ยนมุมมอง การที่เราเข้าไปพูดคุย รับฟัง จะทำให้ได้เห็นถึงความคิดของพวกเขาที่มีต่อส่วนกลาง ได้แลกเปลี่ยนความเห็น หาจุดร่วมเพื่อแก้ปัญหาและนำไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืนร่วมกัน
นึกถึง สส.นล ต้องนึกถึง "หมูกระทะ"
ผมชอบทานหมูกระทะอยู่แล้วครับ ทั้งอร่อยและสนุก ได้พูดคุยระหว่างรับประทาน คนชอบแสดงความเห็นว่าผมเป็นมุสลิมกินหมูกระทะได้อย่างไร จริงๆ แล้วเป็นความชอบ เป็นไลฟ์สไตล์ และสำคัญที่สุดคือ ผมนับถือศาสนาพุทธครับ
เคล็ดลับทำชีวิตให้มีความสุข
“ทำทุกวันให้สนุก” ครับ ตื่นมาก็ต้องแอคทีฟ ต้องพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ต้องไปเครียด ผมใช้ชีวิตตามคติที่ว่า “เกิดมาครั้งเดียว ตายครั้งเดียว” ถ้าเรามีอุดมการณ์ที่ดีในการทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ก็ทำไปให้สุดครับ เราจริงใจ ตรงไปตรงมา ก็ทำให้ชีวิตมีความสุข
ช่องทางติดตาม
Facebook : กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang | Facebook
Youtube : Nol Channel - นล แชนแนล - YouTube
Tiktok : Nol Kannavee (@nolkannavee) | TikTok
X : กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang (@nolkannavee) / X
ขอบคุณรูปภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang