manorafood

จากเด็กปิ้งข้าวเกรียบ

สู่เถ้าแก่อาณาจักร "มโนห์รา"

The Exclusive ได้มีโอกาสมาร่วมพูดคุยกับผู้ก่อตั้งข้าวเกรียบมโนห์รา "ดร.อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" กว่าจะมาเป็นอาณาจักรมโนห์รานั้นไม่ง่ายเลย!
 
จุดเริ่มต้น
"ข้าวเกรียบมโนห์ราเดิมชื่อข้าวเกรียบสงขลาครับ ผมเป็นคนสงขลา แล้วก็อยากจะมาพัฒนาให้เป็นข้าวเกรียบที่มีชื่อของจังหวัดสงขลา ก็ทำอยู่หลายปี ทำอยู่เกือบ 30 ปี ใช้ชื่อคำว่าสงขลา แต่พอขายดีขึ้นมาเราไปจดเครื่องหมายการค้าจดไม่ได้ ชื่อจังหวัดสงขลาจดทะเบียนการค้าไม่ได้ ก็ใช้คำว่า ก.สงขลา​ ป.สงขลา​ ต.สงขลา หรือมีตัวอักษรนำหน้าเพราะสงขลาอย่างเดียวทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นข้าวเกรียบมโนห์รา เหตุที่ใช้มโนห์ราก็เพราะเป็นสื่อที่จดจำง่ายเวลาตอกย้ำในสื่อมวลชนต่างๆ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาครับ ผมเริ่มขายข้าวเกรียบโดยทำที่จังหวัดสงขลา ทำในบ้านพี่สาวทำและผมก็ไปขายในแหลมสมิหลา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ขายวันเสาร์อาทิตย์หลังจากที่ไปเรียนหนังสือวันจันทร์ถึงศุกร์ ขายไปเรื่อยๆ จนขายดีขึ้น สมัยก่อนซองละ 1 บาท เมื่อ 61 ปีที่แล้วนะ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กในครอบครัว กว่าจะถึงปัจจุบันก็ใช้เวลา 61 ปี"
 
จุดเด่นของข้าวเกรียบมโนห์รา
"มโนห์ราเรากรอบไม่เหมือนใคร กรอบแบบกระจกแตก ข้าวเกรียบทั่วๆ ไปเป็นกรอบแบบนุ่ม แต่ของเรากรอบแบบกระจกแตก ต้องอบให้แห้ง ต้องสลัดน้ำมันออกให้มากที่สุด ไม่เหม็นหืน ผู้บริโภคปลอดภัย เคี้ยวปุ๊บ กรอบ! อร่อย! สร้างความประทับใจแก่ผู้บริโภค"
 
นอกจากข้าวเกรียบกุ้งมีอะไรอีก
"มโนห์รามีสินค้าหลายตัว มีข้าวเกรียบปลา ข้าวเกรียบปู ที่สำคัญเราส่งเสริมเกษตรกรด้วยก็คือมี ข้าวเกรียบฟักทอง ข้าวเกรียบเผือก ข้าวเกรียบข้าวโพด ถ้าข้าวเกรียบมโนห์ราขายดีย่อมหมายถึงเกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของการส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้ แล้วก็เป็นอาหารมังสวิรัติสำหรับบางคนที่ไม่ทานเนื้อกุ้ง เนื้อปลา เนื้อสัตว์ ก็ทานข้าวเกรียบมโนห์ราได้"
 
ใช้กลยุทธ์ใดบนการตลาด Red Ocean
"ต้องสร้างความแตกต่าง กลยุทธ์ของการตลาดที่นำมาใช้เป็นของ Michael E. Porter ใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ หลักๆ เลยข้อที่ 1 สินค้าที่ผลิตต้องต่างจากคนอื่น ข้อ 2 การวางแผนส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ดี แต่ต้นทุนถูกกว่าเจ้าอื่น และข้อที่ 3 โฟกัสจุดขาย ต้องรู้จัก Positioning ว่าสินค้านี้ขายได้ที่ไหนแล้วจะได้รับความสนใจ"
 
ต่างชาติจะมีโอกาสได้ชิมของดีเมืองไทยไหม
"มีครับ เดิมทีเราส่งออก 30% ขายในประเทศ 70% ตอนนี้ 50:50 ขายในประเทศ 50% ส่งออก 50% ในเอเชียก็มีหลายประเทศ ยุโรปก็หลายประเทศ แล้วก็เพื่อนบ้านใกล้ๆ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม เราก็ส่งไปขาย​ ลูกค้าชอบในรสชาติความแตกต่างที่ไม่เหมือนสินค้าอื่น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์เก็บได้หลายเดือนเป็นปี นี่คือจุดเด่นของมโนห์รา สินค้าที่ส่งไปขายในแต่ละประเทศรสชาติก็ไม่เหมือนกัน บางประเทศชอบรสชาติเค็ม บางประเทศชอบรสชาติสไปซี่ อย่างถ้าส่งไปอินเดียเครื่องเทศต้องหนัก ถ้าส่งไปขายญี่ปุ่นต้องทำอีกรสชาตินึง เพราะฉะนั้นข้าวเกรียบของมโนห์ราที่ส่งไปในแต่ละประเทศรสชาติจะไม่เหมือนกัน ต้องศึกษาว่าวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย ถึงแม้ว่ารสชาติจะต่าง แต่ขายราคาเดียวกันทั่วโลกครับ คนรวยคนจนกินข้าวเกรียบเหมือนกัน"
 
คืนคนดีสู่สังคม
"ประเด็นนี้ดีมาก เราต้องคืนคุณงามความดีกลับคืนให้กับสังคม โดยเฉพาะเด็กที่ต้องโทษเราเอามาฝึกอาชีพ ฝึกช่างเชื่อม ช่างเครื่องยนต์ ช่างกลึง ช่างไฟฟ้า ทำให้เด็กๆ เหล่านี้มีความรู้ในการประกอบอาชีพต่อไป สามารถอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ทดแทนแรงงานพม่าได้อีกส่วนหนึ่ง การที่จะทำให้ CSR ยั่งยืน ผู้ให้ก็ได้ ผู้รับก็ได้ ไม่ใช่ผู้รับได้อย่างเดียวมันจะไม่ยั่งยืน ก่อนที่จะ Sustainability ผู้รับรับความรู้จากเรา ผู้ให้เราได้แรงงาน เราได้ส่วนที่เราสอนเขา พวกช่างต่างๆ เราให้ความรู้ ปลูกฝังให้รักและชอบในวิชาชีพ เขาก็จะเป็นคนดีของสังคมได้"
 
นิยามของคำว่าใจแลกใจ
"ทุกคนที่นี่เราต้องให้ความรักและความอบอุ่น เขาเหล่านั้นคือผู้มีพระคุณกับโรงงาน เขาไม่ได้เป็นขี้ข้า แต่เป็นคนสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับโรงงาน เรารักแบบญาติพี่น้อง บุคลากรทุกคนจะอยู่ดีมีสุข ยิ้มให้กัน สวัสดีทักทายกัน เราดูจากรอยยิ้มที่ส่งมาให้เรา นั่นเป็นตัวที่แสดงว่าเขาอยู่กับเราอย่างมีความสุขจริง"
 
มโนห์รากับนโยบาย BCG Model
"BCG เป็นสิ่งที่ดีที่โรงงานหลายๆ โรงงานพยายามจะพัฒนา แล้วก็ปฏิบัติอยู่ เพราะการส่งออกต่อไปนี้ต้องมี BCG โดยเฉพาะคาร์บอนเครดิต คือ นำของที่ทิ้งแล้วมาหมุนเวียนใช้ใหม่ อย่างน้ำมันในบ่อไขมันเราสามารถผสมกับขยะแห้งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำในโรงงานได้ หรือแป้งที่เล็ดลอดลงบ่อดักเก็บ เอามาอบให้แห้งไอน้ำที่เหลือ เราสามารถอบแป้งเหล่านี้ให้แห้งแล้วเอามาเป็นเชื้อเพลิงได้เช่นกัน ที่นี่น้ำต้องใช้ 3R Reuse Reduce Recycle เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ BCG ของเราเห็นแสงสว่างเกิดขึ้น"
 
อนาคตของมโนห์รา
"จริงๆ แล้วผมเป็นเฟิร์สเจนเนอเรชั่น เป็นผู้ก่อตั้งมโนราห์เป็นรุ่นแรก เพราะคุณพ่อมีอาชีพเป็นช่างไม้ ต่อมาก็คงจะเป็นลูกชายและลูกสาว ลูกชายจบด้านอาหารมาโดยตรงแล้วมาพัฒนาต่อ ส่วนลูกสาวจบด้าน Marketing ก็จะมาดูแลด้านการตลาดโดยตรง ปัจจุบันนี้การตลาดต้องนำหน้าการผลิต ถึงจะทำให้การประกอบกิจการประสบความสำเร็จ เราก็พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงของโลกครับ"
 
 
ฝากถึง Start-Up
"Start-Up รุ่นใหม่ง่ายกว่ารุ่นเก่ามาก เดี๋ยวนี้ขายออนไลน์กันหมดแล้ว ไม่ใช่ออฟไลน์เหมือนเมื่อก่อน ออนไลน์ต้องให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้า สินค้าที่นำมาขายต้องมีความแตกต่างจากคนอื่น โดยใช้หลักของ Michael ที่กล่าวมา การส่งมอบสินค้าและบริการต้องรวดเร็วทันใจ อันนี้คือข้อได้เปรียบของรุ่นใหม่ แบรนด์ของเราขายออฟไลน์อย่างเดียว มโนห์ราจึงยึดถือความซื่อสัตย์กับลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ คุณภาพ รสชาติ ต้องมีความสม่ำเสมอ อย่างเรามี QC QA คอยตรวจเช็คอยู่ตลอดเวลา​ อย่างเช่นน้ำมันเราตรวจสอบทุก 2 ชั่วโมง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าน้ำมันที่เราใช้ทอดมีคุณภาพดี อย่ายึดเอาแต่ผลกำไรอย่างเดียว ต้องคิดถึงผลประโยชน์ในระยะยาวด้วย"
 
ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษแบบ Exclusive พร้อมชมอาณาจักรมโนห์รา ได้ทาง Youtube : TheExclusiveTH
Visitors: 525,543