Positive Parenting
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จับมือ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทย ด้วยโครงการพัฒนาครอบครัวพลังบวก
วันที่ 20 มีนาคม 2568 ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการพัฒนาครอบครัวพลังบวก (Positive Parenting) ในสังคมไทย โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เป็นผู้แทนหน่วยงานร่วมลงนามณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นพลังความร่วมมือระหว่าง ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาครอบครัวพลังบวก (Positive Parenting) ในสังคมไทยทั้งนี้ การที่จะให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีความพร้อมในทุกมิติได้ จำเป็นต้องมีเบ้าหลอมที่ดีเป็นแบบอย่าง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี ครอบครัวซึ่งเป็นนิเวศน์หน่วยแรกของมนุษย์ จึงเป็นฐานรากสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเพื่อสนับสนุนพันธกิจ การสร้างเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว ด้วยกระบวนการพี่เลี้ยงที่ปรึกษา เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และวางแผนการปฏิบัติการจริงร่วมกันในการที่จะพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน ประสานความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัด ให้การสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมในการดำเนินการพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนในพื้นที่จังหวัดเป้าหมายโดยมีแนวทางการดำเนินการและกิจกรรมความร่วมมือส่งเสริม สนับสนุน และประสานให้หน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชนสู่ความยั่งยืน เป็นต้นแบบ (ระดับจังหวัด) ร่วมพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานในสังกัด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนหรือตัวแทนชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเรียนรู้จากการทำงาน มีการถอดบทเรียนเป็นโมเดลของหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือทางนโยบายร่วมกัน มีกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและวางแผนการปฏิบัติการจริงร่วมกันในการที่จะพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน โดยใช้องค์ความรู้ของหน่วยงานความร่วมมือ เพื่อให้เกิดกลไกขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ในการพัฒนาระบบและกลไกพี่เลี้ยงที่ปรึกษาของเครือข่าย ถ่ายทอด แลกเปลี่ยน เผยแพร่องค์ความรู้การพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษา เพื่อขยายผลในอนาคตร่วมกันอย่างยั่งยืนสืบไป”
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “วิสัยทัศน์และพันธกิจ ของกระทรวงวัฒนธรรมมีความสอดคล้องกับการดำเนินงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ทั้งในด้านการส่งเสริมความร่วมมือ การสนับสนุน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว การมีส่วนร่วมในการที่จะพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน โดยสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันในการดำเนินการพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยอาศัยการบูรณาการและประสานความร่วมมือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินกิจกรรมในวันนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานรวมถึงการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามให้เกิดขึ้น และสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในระดับประเทศ
ด้าน นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “โครงการพัฒนาครอบครัวพลังบวก (Positive Parenting) ในสังคมไทย มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงโอกาส และการคุ้มครองทางสังคม มีความมั่นคงในชีวิต เสริมสร้างศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ให้โอกาสและการคุ้มครองทางสังคมอย่างเท่าเทียม มีการร่วมมือและเป็นหุ้นส่วนของทุกภาคส่วนในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนและยกระดับองค์กรให้มีผลสัมฤทธิ์ด้วยธรรมาภิบาลและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยโครงการนี้เป็นการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาระบบและกลไกที่เกี่ยวข้อง โดยมีโครงการ/แผนงานการบูรณาการงานพัฒนาครอบครัวพลังบวก ระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนหรือตัวแทนชุมชนอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบาย หรือในระดับปฏิบัติการ และในอนาคตจะสามารถต่อยอดและพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่ายทางสังคม ให้เป็นแหล่งและพื้นที่เรียนรู้เพื่อขยายผลในอนาคตร่วมกันต่อไปได้”
ทั้งนี้ หลังจากร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทั้ง 3 หน่วยงานจะมีภารกิจสำคัญร่วมกัน คือ 1. การร่วมส่งเสริม สนับสนุน และประสานให้หน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชนสู่ความยั่งยืน เป็นต้นแบบ (ระดับจังหวัด) 2. ร่วมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือทางนโยบายร่วมกัน 3. ร่วมพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่ายทางสังคม ให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับหน่วยงานในสังกัด (ระดับจังหวัด) เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ในการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษา ของเครือข่ายและเป็นกลไกพี่เลี้ยง (Coach) ถ่ายทอด แลกเปลี่ยน เผยแพร่องค์ความรู้การพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษา เพื่อขยายผลในอนาคตร่วมกัน และ 4. ร่วมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ