Suriyadeo Tripathi
หมอรักษาคน สู่หมอรักษา "ใจ" ของสังคม กับ รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี
ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
"...เพราะปัจจุบันคุณธรรมสัมผัสได้ คนดีมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม..."
เส้นทางสู่สายแพทย์
"หมอไม่ได้เรียนเพราะค่านิยม แต่เกิดจากแรงบันดาลใจที่พาคุณพ่อไปรักษาแล้วหมอที่ตรวจก็ไม่ได้อธิบายสาเหตุอาการป่วยที่มากมายนัก ทำให้เราไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแล้วด้วยความที่เป็นคนอินเดีย คุณแม่ซึ่งเป็นผู้หญิงก็ไม่ได้รับการศึกษา ในขณะที่คุณพ่อทำงานด้านบัญชีก็ได้ย้ายจากประเทศอินเดียมาอยู่ที่ประเทศไทย พอคุณพ่อล้มป่วย ทำให้หมอต้องส่งตัวเองเรียน ทั้งเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ช่วยดูแลครอบครัว จนวันนึงไปนั่งอ่านหนังสือก็มองไปฝั่งตรงข้าม เห็นรุ่นพี่แพทย์จุฬาฯ ใส่เสื้อกราวด์ ผนวกกับที่พาคุณพ่อไปรักษาแล้วไม่ได้รับข้อมูลจากหมอ เลยเกิดแรงบันดาลใจ คิดว่าถ้าได้เป็นหมอจะไม่เป็นหมอที่ไม่ได้ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำใดๆ เลย จนสอบติดคณะแพทย์จุฬาฯ และได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ชุมพร ก็เกิดมีความรู้สึกเหมือนนางงามที่ว่ารักเด็ก เพราะมีลูกเลยอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับเด็กเพื่อที่จะได้มาดูแลลูก ก็เลือกเรียนหมอเด็ก เรียนทางด้านพัฒนาการของเด็ก และเรียนหมอเฉพาะทางทางด้านวัยรุ่นที่อเมริกาต่อเนื่องมา"
จากหมอรักษาคน สู่หมอรักษาใจของสังคม
"ก็ต้องบอกว่าหมอเด็กมีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่งก็คือเป็นหมอครอบครัว เวลาที่เราดูแลเด็กๆ ทั้งหลาย เราก็ต้องดูแลพ่อแม่เขาด้วย คือ บางเรื่องพ่อแม่ก็ไม่ได้มีความรู้ เราก็ต้องให้ทัศนะและให้ข้อคิดเห็นว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะดูแลลูกอย่างไร บนความเหลื่อมล้ำทางสังคม 10 – 20 ปี หมอเห็นปรากฏการณ์ชัดเจนว่าชุมชนเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เวลาเราจะแก้ปัญหา เช่น เด็กติดขนม ฟันผุ จนกลายเป็นฝีในสมอง หรือกลายเป็นคนที่อ้วนจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เรื่องเหล่านี้กดดันตัวเราเองด้วยว่าเราจะนั่งรักษาคนไข้ไปแบบนี้ในโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่หมอก็รู้ว่าเหตุเกิดจากอะไร ทำให้หมอเริ่มทำงานกับเครือข่ายซึ่งก็เจอแต่กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ นักโภชนาการ แต่พอเราต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้พวกเขาเกิดความรู้ ความเข้าใจทั้งประเทศ หมอเองก็ไม่ได้มีความรู้ความสามารถ จึงจำเป็นต้องทำงานกับสื่อมวลชน ถ้าเราต้องดีลกับโรงเรียนก็ต้องไปคุยกับคุณครู เลยเริ่มขยายวง ภาคีใหญ่ขึ้น ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อไปดูวิถีชีวิตของเขา ทำไมเป็นเด็กถูกทอดทิ้ง ทำไมเกิดการหย่าร้างกัน ทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง จึงลงพื้นที่จริงจัง ลิสต์ปัญหา เพราะวงการแพทย์สอนมาว่าให้เอาปัญหามาตั้ง จากกรณีคนในชุมชนหนึ่งมีปัญหามาปรึกษา หมอได้ลงไปแก้ไขร่วมกัน มีการสำรวจทุนชีวิต สำรวจทุนทางสังคม สำรวจทุนมนุษย์ ปัญหาต่างๆ ถูกระดมออกมาหมด จนเกิดเป็นระบบพี่เลี้ยงชุมชนที่มีทักษะ คือ ระบบเฝ้าระวังชุมชน ทักษะในการส่งต่อองค์กรช่วยเหลือ ทักษะในการบริหารจัดการโครงการ ทักษะที่จะเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา คุยกันง่ายๆ หน้าที่หมอก็คือย่อยสิ่งที่หมอรู้ให้เข้าใจง่าย ชาวบ้านใช้ได้ งานที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นงานที่หมออยากทำ แต่เกิดขึ้นบนสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้ ชาวบ้านอยากได้เครื่องมือฟังเสียงเด็ก หมอก็ทำขึ้นมา และก็ต้องง่ายด้วยที่ให้พวกเขาใช้ได้จริง การทำเพื่อชาวบ้านคือปณิธานที่ยิ่งใหญ่ของหมอ ว่าถ้ามาเป็นหมอเมื่อไหร่จะไม่เป็นหมอนั่งตรวจคนไข้ในห้องแอร์แล้วไม่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน วันนี้หมอทำสำเร็จและภาคภูมิใจในการทำสิ่งที่สังคมต้องการ"
ความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
"หมอคงคาดหวังสังคมยาก แต่คิดอยู่อย่างหนึ่งคือคุณแม่เคยสอนว่า ลูกจงทำหน้าที่ของลูกให้ดีที่สุดตราบเท่าที่หายใจ หมอรู้อยู่แค่นี้ว่าเราเป็นหมอเด็ก เราเก่งทางด้านจิตวิทยา ณ วันนี้ในบ้านเมือง ในประเทศไทย และประสบการณ์ทั้งชีวิตที่ทำงานขับเคลื่อนสังคม มิติทางสังคม มิติทางจิตวิทยา และมิติความเป็นแพทย์ที่อยู่ในตัว รวมไปจนถึงเป็นแพทย์เด็กด้วย ก็รู้เรื่องบริบทของครอบครัวดี เราจะเอา Know How วางไว้เพื่อให้สังคมเอาไปใช้ได้ ส่วนสังคมจะดีขึ้น ไม่ดีขึ้น เขาจะเอาไปใช้หรือไม่ ก็สุดเกินเอื้อมของหมอที่จะคาดหวัง แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่หมอได้พิสูจน์ในศูนย์คุณธรรมนี้แล้วก็คือ คุณธรรมวันนี้สัมผัสได้ คุณธรรมวันนี้จับต้องได้ คุณธรรมวันนี้วัดได้ กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ แค่นี้หมอก็ภูมิใจว่าได้ทำตามปณิธาน"
ฝากแง่คิด
"หมออยากจะฝากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ ว่าถ้าอยากให้เด็กเป็นอย่างไรให้ก้มดูตัวเราก่อนว่าเราเป็นต้นแบบที่ดีให้พวกเขาหรือยัง ในสมัยเราเป็นเด็กชุมชนเข้มแข็ง หรือจิตวิญญาณความเป็นครูดีกว่านี้เยอะ ไม่ได้อยู่ในระบบแพ้คัดออกแบบปัจจุบัน พ่อแม่เองก็มีจิตวิญญาณความเป็นพ่อแม่ที่จะเลี้ยงลูกตัวเอง แล้วก็เป็นต้นแบบ เราเรียกว่าเรียนรู้ด้วยวิถีชีวิตไม่ใช่เรียนรู้ด้วยคำพูดปลูกฝังไปวันๆ หรือใช้วาทกรรมสวยหรู หมออยากจะฝากพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ทั้งบ้านเมือง ถ้าเราเป็นต้นแบบที่ดีหมอเชื่อมั่นว่าเด็กดีได้"
ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษแบบ Exclusive ได้ทาง Youtube : TheExclusiveTH