warrix

ถอดรหัสวิธี​คิด​ นัก​ธุรกิจพันล้าน! กับ​ CEO​ Warrix
"วิศัลย์​ วนะ​ศักดิ์ศรี​สกุล​"
 
ช่วงนี้กระแสฟุตบอลไทยฟีเวอร์​ The Exclusive ได้มีโอกาสมาร่วมพูดคุยกับ​ "คุณฮิม วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) CEO & Founder แบรนด์ Warrix​ เจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการ
รู้จัก​ CEO​ แบรนด์วอริกซ์​ (Warrix)​
 
ผม วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ชื่อเล่น ฮิม ครับ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ไปทำงานเป็นนักการตลาดที่เครือซิเมนต์ไทย เกี่ยวกับด้านช่องทางการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จึงทำให้เข้าใจเกี่ยวกับตัวแทนจำหน่ายในทุกๆ จังหวัด มีความเข้าใจในเรื่องของ Local Marketing หลังจากนั้นก็ไปเป็น Export Sales ผ้ายืดให้กับเครือนันยางเท็กซ์ไทล์ ซึ่งความชำนาญตรงนี้ก็ทำให้คุ้นเคยกับแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา จึงได้เปรียบในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ ต้นทุนที่ดี หลังจากนั้นก็ได้เปิดโรงงานผลิตเสื้อยูนิฟอร์มนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ ยูนิฟอร์มบริษัทอยู่ 11 ปี แล้วก็ขายกิจการนั้นให้กับน้องสาว ต่อมาจึงได้เปิดบริษัทวอริกซ์เป็นของตัวเอง
 
จุดเด่นของแบรนด์
 
ผมคิดว่า​ "วอริกซ์" เป็น​แบรนด์​คนไทย เราสร้างแบรนด์มาจากสิ่งที่เรียกว่า​ ไลเซนส์มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งจะแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่ง​อื่นๆ​ ในประเทศ​ นอกเหนือจากคุณภาพสินค้าที่ดีเทียบเท่ากับ​ Global Brand​ หรือแบรนด์ระดับโลก​แล้ว ราคาของเราก็เข้าถึงได้​อย่างสมเหตุสมผล​ อีกทั้ง​วอริกซ์​ได้สร้างแบรนด์ที่ใช้​ Sport​ Marketing​ เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลจากการเป็นผู้ถือสิทธิลิขสิทธิ์ฟุตบอล​ทีม​ชาติ​ไทย​ แล้วก็สโมสรกีฬาต่างๆ​ ถือว่าเป็นการสร้างแบรนด์​ให้เข้มแข็ง​ตลอด​ 11 ปี​ที่ผ่านมา​ ปัจจุบัน​เราได้ขยาย​ธุรกิจ​จาก​ Sportswear ไปเป็น​ Active Lifestyle รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพด้วย​ ก็เป็นการขยายภาพลักษณ์​ของแบรนด์หรือจุดยืนของแบรนด์ให้กว้างขึ้น
 
เข้าสู่การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยได้อย่างไร
 
ในการดำเนินธุรกิจ 3 ปีแรก​ วอริกซ์​ได้ใช้ไลเซนส์มาร์เก็ตติ้งเข้าไปถือลิขสิทธิ์​ของสโมสร​ระดับ​จังหวัด แล้วก็ขยายธุรกิจที่เป็นไลเซนส์ของสถาบันการศึกษา ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 มีโอกาสได้เข้าประมูลสัญญาทีมชาติไทยจึงเป็นจุดก้าวกระโดดที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในประเทศ สร้างการเติบโตทั้งในด้านยอดขายและการรับรู้ของแบรนด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติไทย ทีมชาติพม่า หรือการขยายไปลีกสโมสรในต่างประเทศ ก็ทำให้แบรนด์เติบโตได้ไวและมียอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น

สินค้าของวอริกซ์

การขยายตลาดในแง่ของตัวสินค้านอกเหนือจากเสื้อกีฬาฟุตบอล เสื้อวิ่ง เสื้อบาสเกตบอลแล้ว ได้มีการพัฒนาไปสู่ Active  Lifestyle เช่น เสื้อที่ใส่ในชีวิตประจำวันที่เป็นมินิมอลแฟชั่นอย่างเสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าเดิน รองเท้าวิ่ง ก็เป็นสินค้าที่ขยายสายผลิตภัณฑ์ออกไป โดยเฉพาะเสื้อโปโลซึ่งเป็นสินค้าหลักที่สามารถใส่ได้ทั้งเล่นกีฬา ใส่ทำงาน หรือใส่ในวันหยุดได้

ตลาดในต่างประเทศ

"วอริกซ์" นอกเหนือจากการทำการตลาดในประเทศไทยแล้วก็มีโอกาสขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป้าหมายคือ 11 ประเทศในอาเซียน โดยเริ่มจากการขยายไปเป็นสปอนเซอร์ทีมชาติพม่า เป็นสปอนเซอร์ลีกในประเทศลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศกัมพูชา ก็ถือได้ว่าเราขยายตลาดการรับรู้แบรนด์และยอดขายไปสู่ประเทศในอาเซียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนที่เราขยายเพิ่มนอกเหนือจากอาเซียนก็ขยายตลาดไปสู่ประเทศจีนในครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2567 เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแบรนด์ไปสู่ภูมิภาคที่กว้างขึ้น

ผลตอบรับในต่างประเทศ

การขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศเราเริ่มต้นด้วยการเจาะตลาดสินค้าเป็นเสื้อผ้ากีฬาก่อน ผลตอบรับในประเทศพม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีการตอบรับที่ดี ส่วนในประเทศกัมพูชาเราเริ่มจากเสื้อสโมสรฟุตบอลพนมเปญคราวน์เอฟซี ผลตอบรับดี และในประเทศจีนต้องรอดูในช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้

ตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร

บริษัทตั้งเป้าในการเติบโตตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 ปิดยอดขายอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท และได้เจรจากับนักลงทุนไว้ว่าในปี พ.ศ. 2569 หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะทำยอดขายอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท ก็วางแผนในการเพิ่มยอดขายเติบโตให้ได้ 3 เท่า ใน 4 ปี โดยที่มีแผนงานหรือกลยุทธ์การขยายออกจากหน้าร้านเดิมก็คือ ตลาดสปอร์ตแวร์เดิมในประเทศไทยที่มี Market Size อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เรามียอดขายอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ถือว่ายังสามารถเติบโตได้อีก 30 เท่า และการขยายออกสู่น่านน้ำใหม่อย่างเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเสื้อผ้ากีฬา ซึ่งมีขนาดของตลาดใหญ่กว่ามาก 4 - 5 เท่า ผนวกกับเราก็ได้ขยายสายผลิตภัณฑ์ตามงานวิจัยที่ได้ศึกษา โดยงานวิจัยชิ้นแรกก็คือ "เสื้อยืด" (T - Shirt) งานวิจัยชิ้นที่ 2 ก็คือ "กางเกง" ที่เราขยายไป ส่วนรองเท้าก็เป็นยอดขายถึงครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมทั้งหมด ผมเองก็มีแผนที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เราอยากให้วอริกซ์ขึ้นมาเป็น Market Leader หรือผู้นำตลาดที่เป็นที่รับรู้ของภูมิภาคอาเซียน ยังไม่นับรวมจีน ส่วนเป้าหมายในระยะยาวเราต้องการที่จะครอง Market Share ที่มากที่สุดในอาเซียนให้ได้ ผมเชื่อว่าแบรนด์ไทยจะสามารถไปสู่ระดับภูมิภาคได้อย่างเข้มแข็ง ส่วนในเรื่องของ Online Marketing วอริกซ์ก้าวทันแล้วก็ก้าวเร็วกว่าคู่แข่งท้องถิ่น ซึ่ง Market Channel ของแบรนด์ก็น่าจะทำให้เติบโตในระยะกลางและระยะยาวได้ ยังไม่รวมถึงในประเทศจีนที่ได้ไปจับมือกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ 20 - 30 สาขา บริเวณเซี่ยงไฮ้และโดยรอบ ก็คิดว่าน่าจะมีโอกาสเติบโตมากพอสมควร

วอริกซ์ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ

สำหรับในเรื่องของบริการก็ได้มีการขยายบริการที่เรียกว่า "ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา" โดยได้เปิดไปแล้ว 2 สาขา สาขาที่ 1 อยู่ที่สำนักงานใหญ่ Stadium One ข้างๆ สนามศุภชลาศัย จะเป็นลักษณะของสหคลินิก มีแพทย์ มีนักกายภาพบำบัด มีการตรวจสุขภาพให้แก่นักกีฬาแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการเทรนนักกีฬาโดยเรามีโค้ชที่มีความชำนาญแบบครบวงจรในทุกๆ กีฬา รวมถึงเราให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีด้วยการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือการเพิ่มความสูงให้กับเด็กที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนภายใต้การดูแลของแพทย์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการ ส่วนสาขาที่ 2 อยู่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาที่เกี่ยวกับการวิ่ง (Warrix Run Hub) มีแพทย์ นักกายภาพบำบัดที่ชำนาญเรื่องข้อ เรื่องกระดูก เรื่องกล้ามเนื้อ มีเทนเนอร์ที่เป็นโค้ชวิ่ง มีสินค้าที่เกี่ยวกับการวิ่งจำหน่าย ตลอดจนสร้างคอมมิวนิตี้ของนักวิ่งที่สวนเบญจกิติ นอกจากนี้ เรายังจัดงานวิ่งทั้งงานวิ่งบนถนน งานวิ่งในอุทยาน ประกอบกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการให้บริการร่วมกับการสร้างแบรนด์ควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ ความสุข และความยั่งยืน

วิธีก้าวข้ามผ่านอุปสรรค

ตลอดเวลาที่ผมทำธุรกิจ เป็นเจ้าของธุรกิจมา 20 ปี หรือแม้แต่ตอนที่เป็นพนักงาน "ปัญหาเรามีไว้แก้" เรามีปัญหาไว้เพื่อสร้างให้เราแข็งแกร่งขึ้น ทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น และทำให้เราบินสูงขึ้น ในแง่ของการเป็นนักธุรกิจเวลาพบเจอปัญหา ยิ่งเราทำงานเยอะ ยิ่งต้องเจอปัญหาเยอะ ยิ่งต้องผิดพลาดเยอะ จะแตกต่างจากบางวิธีคิดที่บอกว่าเซฟๆ ตัวเองเพื่อจะได้เกษียณในตำแหน่งที่สูงสุดหรือเบอร์หนึ่งในองค์กร ซึ่งวิธีนี้ผมคิดว่าผิด! ยิ่งเราขยันเยอะ ทำเยอะ ผิดพลาดเยอะ เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดเก็บมาเป็นครู มาเป็นวิชา ที่เราจะไม่ผิดพลาดซ้ำ เราต้องใช้ประสบการณ์มาสร้างสิ่งที่เราจะทำต่อไป ครั้นเมื่อเรามีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่มากขึ้นก็ต้องให้ผิดพลาดน้อยลง เมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะเป็นบุคลากรที่เป็น Quality Citizens ของสังคม ทุกปัญหาจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเดินไปข้างหน้าต่อ ในช่วงโควิดผมก็เจอปัญหามากมายเหมือนกับทุกคน "ท้อได้ แต่ท้อแค่ 2 วัน จาก 700 กว่าวัน" จากนั้นก็เอาปัญหามาหาโอกาส ทั้งนี้ผมคิดว่าอยู่ที่มุมมองของคนทำธุรกิจ ปัญหาถ้าเรามองเป็นทุกข์เราก็จะเป็นทุกข์ ถ้าเรามองปัญหาเป็นโอกาส เราจะมีความสุขต่อการที่เราแก้ไขปัญหานั้นได้

แนวคิดที่ทำให้วอริกซ์ประสบความสำเร็จ

ชื่อแบรนด์มาจากคำว่า Warrior ร่วมกับชื่อของผม แนวคิดเรื่องของความเป็น "นักสู้" โดยไม่จำเป็นที่จะต้องชนะทุกสนาม เมื่อเราแพ้ในบางสนามหรือเราผิดพลาดในบางอย่าง เราจะต้องสู้ต่อ ผมก็มีแคมเปญที่ผมทำว่า "สู้ดิ...แค่คิดก็ชนะแล้ว" ก็เป็นเรื่องของการมีทัศนคติเชิงบวก การกระทำเชิงบวก ที่สุดแล้วเราก็จะสู้ไปจนประสบความสำเร็จ

การทำเพื่อสังคม

ในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ผมอยากทำอยู่แล้ว วอริกซ์ให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในสังคม ช่วงแรกๆ เราทำเรื่องของคนพิการที่เล่นกีฬาให้เท่าเทียมกับนักกีฬาทั่วไป ซึ่งก็สนับสนุนทีมผู้พิการหูหนวกมาเล่นกับทีมหลัก  หรือการรับผู้พิการเข้าทำงาน ต่อมาเป็นเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ เราสนับสนุนความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ และที่ได้ทำล่าสุดก็คือ การไปสนับสนุนผู้ที่อยู่ในทัณฑสถานที่ต้องทำงาน วอริกซ์สร้างความเท่าเทียมในเรื่องของโอกาส การสร้างอาชีพ ไม่ว่าจะอยู่ในเรือนจำหรือพ้นโทษออกมาแล้ว โดยทางบริษัทได้นำวัสดุที่เป็นเศษผ้าให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือเสื้อ เพื่อที่นำมาขายและสร้างรายได้ให้กับคนที่อยู่ในเรือนจำกลับไปเลี้ยงครอบครัว ไปส่งลูกเรียน หรือส่งไปให้คุณพ่อคุณแม่ ผมก็คิดว่าการสร้างความเท่าเทียมนี้สามารถสร้างได้ในทุกโอกาส

ช่องทางจัดจำหน่าย

สินค้าทั่วไปและสินค้าที่ผลิตจากผู้ต้องขังในเรือนจำภายใต้โครงการ "กระเป๋าปันสุข" นี้ สามารถซื้อได้ทุกช่องทางออนไลน์ รวมถึงพื้นที่หน้าร้านสเตเดี้ยมวัน, เดอะมอลล์บางแค, เดอะมอลล์บางกะปิ, ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, สยามสแควร์ ฯลฯ ก็จะมีกระเป๋าปันสุขวางอยู่ ท่านสามารถมาอุดหนุนกันได้ นอกเหนือจากการสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังแล้ว เรายังมีตัวเลือกในการบริจาคว่าจะสนับสนุนไปยังที่ใดได้บ้าง เช่น โรงพยาบาลศิริราช สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช, กองทุนครูเกษียณ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, มูลนิธิรามาธิบดี โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ เป็นต้น ผมถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ฝากถึง SME

ผมเชื่อว่า SME ที่ทำธุรกิจต้องเจอปัญหาในทุกๆ วัน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กกับปัญหาเรื่องของแหล่งเงินทุน เราต้องแสวงหาความรู้ในเรื่องของการเงิน บัญชี ภาษี เพื่อที่จะมีความเข้าใจในเรื่องบริหารการเงิน บริหารงานหลังบ้าน ส่วนเรื่องของการมีทัศนคติเชิงบวกในการทำธุรกิจ ผมฝากแนวคิดหรือปรัชญาในการทำงานและการใช้ชีวิตนะครับว่า "คนที่หิวเงิน จะไม่มีวันอิ่มเงิน" เนื่องจากเราใช้ความโลภในการทำธุรกิจ การตัดสินใจจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่ง เป็นการตัดสินใจเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด แต่ผมคิดว่าผิด! มีกำไรได้ แต่ต้องมีจริยธรรมด้วย เรื่องนี้ผมอยากฝากกับ SME ทุกท่าน เราต้องทำแบบยั่งยืน เสียภาษีถูกต้อง ทำบัญชีถูกต้อง ป้องกันการรั่วไหล แล้วเราก็ควรมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ เพราะจะทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืน

ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษแบบ Exclusive ได้ทาง Youtube : TheExclusiveTH

Visitors: 525,542